หากให้ลองจับคู่ของสองสิ่งที่คู่กันอย่างส้อมกับช้อน โรงหนังกับป๊อบคอร์น ศิลปะก็ต้องคู่กับการเมืองอย่างแน่นอน ด้วยเหตุผลที่ว่าศิลปะเปรียบเสมือนเครื่องมือบันทึกเรื่องราว เหตุการณ์สำคัญที่ทำหน้าที่เป็นกระจกสะท้อนสังคมในช่วงเวลานั้นๆ โดยวันนี้เราได้หยิบยกผลงานศิลปะที่สะท้อนเรื่องราวการเมืองการปกครองของสังคมที่สะท้อนระบบชนชั้น การปฏิวัติและสิทธิเสรีภาพ มาให้ดูกัน
ศิลปะไม่เป็นเจ้านายใคร และศิลปะไม่เป็นขี้ข้าใคร
อ.ทัศนัย เศรษฐเสรีOath of the Horatii, 1784
ภาพนี้วาดโดยฌัก-หลุยส์ ดาวีด (acques-Louis David) จิตรกรชาวฝรั่งเศสผู้วางรากฐานในศิลปะประเภทนีโอคลาสสิค เขาวาดขึ้นในปี 1784 ซึ่งอยู่ในช่วงคุกกรุ่นของการปฏิวัติฝรั่งเศสปี 1789 โดยภาพ Oath of the Horatiiเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับสามพี่น้องตระกูลโฮราที (ทางซ้ายของภาพ) กำลังเอื้อมมือเพื่อรับดาบ 3 เล่มจากชายชราในผ้าคลุมสีแดง คาดว่าเป็นพ่อของชายทั้งสามและด้านขวาของภาพเป็นผู้หญิง 3 คนและเด็กอีก 2 คน โดยเหตุการณ์ในภาพคือการมาลาเพื่อออกไปรบของสามพี่น้อง และอารมณ์ในภาพก็แตกต่างกันสุดขั้ว เพราะทางฝั่งผู้ชายกำลังเป็นภาพที่สื่อถึงความกล้าหาญ ความเสียสละเพื่อบ้านเมือง แต่ทางฝั่งผู้หญิงกำลังรู้สึกถึงความไม่สบายใจ และมีอารมณ์หดหู่ร่วมอยู่ด้วย
Tennis Court Oath, 1789
มาที่ภาพนี้ของฌัก-หลุยส์ ดาวีด (acques-Louis David)เหตุการณ์ในภาพเกิดขึ้นในวันที่ 20 มิถุนายน ปี 1789 เป็นการมารวมตัวกันของฐานันดรที่สามซึ่งก็คือ “สามัญชน” เพื่อต้องการเข้าร่วมประชุมสภา เนื่องจากโดนกีดกันจากฐานันดรที่1,2 ไม่ให้เข้าร่วมประชุมด้วย โดยกลุ่มฐานันดรที่ 3 จึงมารวมตัวกันเพื่อประกาศจุดยืนว่า “จะไม่มีวันแตกแยก และจะรวมตัวกันไม่ว่าในที่แห่งหนหรือสถานการณ์ใดก็ตาม จนกว่ารัฐธรรมนูญอาณาจักรจะถูกตราขึ้น”
ซึ่งการมารวมตัวของประชาชนในครั้งนี้ถือว่าเป็นสัญลักษณ์ที่แสดงให้เห็นถึงการรวมตัวกันเพื่อพยายามล้มล้างระบบเจ้าขุนมูลนายที่ส่งผลประโยชน์แค่คนกลุ่มน้อย และสร้างความตระหนักในเรื่องของสิทธิมนุษยชนและความเท่าเทียมอีกด้วย
Liberty Leading the People (1830)
ต่อกันที่ภาพ Liberty Leading the People หรือที่เรารู้จักกันดีในชื่อ “เสรีภาพนำประชาชน” วาดโดยเออแฌน เดอลาครัว (Eugène Delacroix) เป็นภาพอันทรงพลังที่เราคุ้นเคยกันดีกับเหตุการณ์การปฏิวัติพระเจ้าชาร์ลที่ 10 ให้ออกจากบัลลังก์ โดยเหตุการณ์ในรูปเกิดขึ้นในช่วงวันที่ 27-29 กรกฎาคมปี 1830 เป็นภาพของคนชนชั้นแรงงานไปจนถึงชนชั้นกลางที่พากันลุกฮือมาประท้วงเพราะสภาพสังคมในช่วงเวลานั้นประชาชนกำลังเผชิญอยู่กับความแร้นแค้น แต่ทางพระมหากษัตริย์กลับไม่ได้สนใจใยดีค่อปัญหาปากท้องของประชาชนแต่อย่างใด จึงก่อให้เกิดเหตุการณ์ตามที่เห็นในรูป
Guernica (1937)
ถึงคิวศิลปินคนดังแห่งยุคอย่างปาโบล ปิกัสโซ (Pablo Picasso) ที่เขาได้ถ่ายทอดงานศิลปะที่มีชื่อว่า “Guernica” เพื่อสะท้อนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่เกร์นิกา หมู่บ้านชนบทเล็กๆ ในประเทศสเปนประเทศบ้านเกิดของปิกัสโซ โดยสิ่งที่เกิดขึ้นคือมีกองทหารนาซีและฟาสซิสต์พยายามบุกเข้ามาโจมตีและทิ้งระเบิดเพื่อปราบปรามผู้ต่อต้านสงครามกลางเมือง เหตุการณ์ครั้งนี้มีประชาชนผู้บริสุทธิ์ล้มตายจำนวนมาก ซึ่งนับว่าเป็นโศกนาฏกรรมสุดสะเทือนอารมณ์ และปิกัสโซก็ถ่ายทอดอารมณ์เหล่านั้นออกมาให้เห็นผ่านรูปภาพ
โดยรูปภาพที่เรายกตัวอย่างมานั้นเป็นเพียงส่วนเล็กน้อยของผลงานศิลปะที่เหล่าบรรดาศิลปินพยายามสะท้อนเรื่องราวความรู้สึกนึกคิดและทัศนคติผ่านผลงาน ซึ่งยังมีผลงานอีกมากมายที่เราไม่ได้หยิบยกมาพูดถึงในวันนี้ แต่เราก็อยากฝากให้ทุกๆ ท่านได้ติดตามผลงานของศิลปินไม่ว่าจะเป็นของไทยหรือต่างประเทศต่อไป เพราะท้ายที่สุดเรายังคงเชื่อว่าศิลปะจะทำหน้าที่พูดแทนประชาชนได้ดีที่สุด